เข็มป่า ๑

Ixora cibdela Craib

ชื่ออื่น ๆ
เข็มดอย, เข็มตาไก่ (เหนือ); เข็มโพดสะมา (ปัตตานี)
ไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก กิ่งและก้านมีเปลือกนุ่มสีเทา ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปไข่รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่น ออกตามปลายกิ่ง ดอกสีขาวกลิ่นหอม ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม สุกสีดำ มีลายสีขาวตามยาว เมล็ดรูปครึ่งวงกลม

เข็มป่าชนิดนี้เป็นไม้พุ่มหรือไม้ต้นขนาดเล็ก สูง ๑-๓ ม. กิ่งและก้านมีเปลือกนุ่ม สีเทา

 ใบเดี่ยว เรียงตรงข้ามสลับตั้งฉาก รูปรีแกมรูปไข่ รูปไข่ หรือรูปรีแกมรูปขอบขนาน กว้าง ๑-๙ ซม. ยาว ๒.๕-๓๐ ซม. ปลายแหลมถึงเรียวแหลม โคนมนหรือรูปลิ่ม ขอบเรียบ แผ่นใบหนาคล้ายแผ่นหนัง เส้นกลางใบเห็นชัดทางด้านล่าง เส้นแขนงใบข้างละ ๙-๑๒ เส้น ก้านใบยาว ๐.๒-๑.๕ ซม. หูใบระหว่างก้านใบรูปสามเหลี่ยมกว้างและยาว ๒-๔ มม. บางครั้งเป็นร่องตามยาว ด้านในสีดำ

 ช่อดอกแบบช่อกระจุกแยกแขนงคล้ายช่อเชิงหลั่นออกตามปลายกิ่ง ทั้งช่อยาว ๑๐-๑๕ ซม. ก้านช่อยาวได้ถึง ๒ ซม. ก้านดอกยาวได้ถึง ๒ มม. แต่ละช่อมีดอกจำนวนมากดอกสีขาว กลิ่นหอม กลีบเลี้ยงโคนเชื่อมติดกัน ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปสามเหลี่ยมปลายแหลม กว้าง ๐.๑-๐.๒ มม. ยาว ๐.๒-๐.๔ มม. ด้านนอกและขอบเกลี้ยงกลีบดอกโคนเชื่อมติดกันเป็นหลอด ยาว ๐.๗-๑.๔ ซม. ปลายแยกเป็น ๔ แฉก แต่ละแฉกรูปไข่แกมรูปใบหอกหรือรูปไข่แกมรูปขอบขนาน ปลายแหลมหรือแหลมมน กว้าง ๒.๕-๓ มม. ยาว ๖-๙ มม. เกลี้ยงทั้ง ๒ ด้าน แฉกกลีบดอกบิดเวียนในดอกตูม เกสรเพศผู้ ๔ เกสร ติดบริเวณคอหลอดกลีบดอก เรียงสลับกับแฉกกลีบดอก อับเรณูรูปรี


ยาว ๔.๕-๕ มม. แตกตามยาว รังไข่อยู่ใต้วงกลีบ มีขนนุ่มมี ๒ ช่อง แต่ละช่องมีออวุล ๒ เม็ด ก้านยอดเกสรเพศเมียโผล่พ้นหลอดกลีบดอก ๔-๘ มม. ยอดเกสรเพศเมียแยกเป็น ๒ แฉก

 ผลแบบผลผนังชั้นในแข็ง รูปทรงกลม เส้นผ่านศูนย์กลาง ๔-๕ มม. สุกสีดำ มีลายสีขาวตามยาว เมล็ดรูปครึ่งวงกลม กว้างและยาว ๓-๕ มม. มี ๑-๒ เมล็ด

 เข็มป่าชนิดนี้มีเขตการกระจายพันธุ์ในประเทศไทยทั่วทุกภาค พบตามป่าเบญจพรรณ ป่าดิบถึงป่าดิบเขาที่สูงจากระดับทะเล ๒๐-๑,๓๐๐ ม. ออกดอกและเป็นผลเกือบตลอดปี ในต่างประเทศพบที่ภูมิภาคอินโดจีน.

 ประโยชน์ ราก เปลือก และใบ ใช้เป็นสมุนไพร.

ชื่อหลักหรือชื่อทางการ
เข็มป่า ๑
ชื่อวิทยาศาสตร์
Ixora cibdela Craib
ชื่อสกุล
Ixora
คำระบุชนิด
cibdela
ชื่อผู้ตั้งพรรณพืช
- Craib, William Grant
ช่วงเวลาเกี่ยวกับผู้ตั้งพรรณพืช
- (1882-1933)
ชื่ออื่น ๆ
เข็มดอย, เข็มตาไก่ (เหนือ); เข็มโพดสะมา (ปัตตานี)
ผู้เขียนคำอธิบาย
ดร.วรดลต์ แจ่มจำรูญ